การยกระดับและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)

ชมภาพ 360 องศา คลิก

 

     องค์การยูเนสโกโดยสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning - UIL) ได้จัดตั้งเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่ง การเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities - GNLC) เพื่อช่วยรัฐบาลท้องถิ่น พัฒนากลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ เครือข่ายนี้จะสนับสนุนการบรรลุผล  การดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 ประการ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ซึ่งเน้นการจัดการศึกษาอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และมีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน (Lifelong Learning: LLL) ตลอดจนเป้าหมายที่ 11 ซึ่งมุ่งพัฒนาเมืองและถิ่นฐานให้มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย และมีการช่วยเหลือเกื้อหนุนซึ่งกันและกันสู่ความยั่งยืน วัตถุประสงค์ของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ องค์การยูเนสโกได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกสร้างเมืองของตนเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพลเมือง ให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติใหม่ๆ ในหลากหลายบริบท     สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของ โลกที่รวดเร็วทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง และส่งเสริมให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคม รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน คุณลักษณะที่สำคัญของเมืองแห่งการเรียนรู้ จะต้องเป็นเมืองที่สามารถจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในทุก ๆ ภาคส่วน เพื่อดำเนินการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัว ชุมชน และที่ทำงาน มีการขยายโอกาสในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการเรียนรู้ ส่งเสริมคุณภาพและความเป็นเลิศ ทางด้านการเรียนรู้ ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มขีดความสามารถของแต่ละบุคคล และการทำงานร่วมกันของคนในเมือง รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนา เมืองอย่างยั่งยืน (กตัญญู แก้วหานามและคณะ, 2564)
ประเทศไทยมีการดำเนินการพัฒนาเมืองในรูปแบบ Smart City ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้รับทราบในทิศทางการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง (ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุและคณะ, 2562) จังหวัดขอนแก่นก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรางเบาสายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันการที่ภาคส่วนต่าง ๆ  ได้มีส่วนร่วมพัฒนาเมืองขอนแก่นหรือขอนแก่นโมเดลดังกล่าวจึงเป็นการร่วมกันสร้างกลไกขับเคลื่อนระบบนิเวศของเมือง (Ecosystem) เพื่อเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม ในลักษณะที่เรียกว่า “Quintuple Helix model” (ธนภูมิ นราธิปกรและศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ, 2562) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน และมีฉันทามติร่วมกันของคนขอนแก่นกับราชการส่วนกลาง ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการสร้าง ความร่วมมือที่ทำให้ทุกภาคส่วนมองเห็นเป็นภาพพัฒนาเมืองเดียวกัน อันนำไปสู่การวางแผนร่วมกัน (Collaboration Planning) ในรูปแบบขอนแก่นโมเดล (ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ และคณะ, 2562) ในขณะที่จากการศึกษาภาพอนาคตแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคม (Social Foresight) ของจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่าปัจจัยขับเคลื่อนหลักในการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคมของจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเชิงสร้างสรรค์เป็นการแปรรูปผลผลิตทางเกษตรและธุรกิจบริการเข้าด้วยกันโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  2) Smart city เป็นการพัฒนาเมืองเพื่อการอยู่อาศัยในอนาคต โดยคำนึงถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งอาศัยดิจิทัลเทคโนโลยี ช่วยบริหารจัดการ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเมือง โดยเป็นเมืองน่าอยู่สุขภาพดี และ 3) คือการท่องเที่ยวและเกษตรเชิงสร้างสรรค์ เป็นการสร้างหรือเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่มีการบูรณาการทางวัฒนธรรม ภาษา แหล่งโบราณวัตถุ โบราณสถาน และเกษตร โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวและเกษตรอย่างยั่งยืน จากปัจจัยขับเคลื่อนหลักทั้งสามปัจจัยทำเกิดภาพอนาคตทางเลือกจำนวน 12 ฉากทัศน์ จากนั้นนำภาพอนาคตที่พึงประสงค์ทั้งสามมาบูรณาการร่วมกันเพื่อเป็นภาพอนาคตที่พึงประสงค์เดียวคือ กาฬสินธุ์เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy city) ซึ่งจะมีแนวทางการพัฒนาในสามประเด็นหลัก คือ ภาคการเกษตรและอาหารเชิงสร้างสรรค์ (Creative agriculture) จะมีการพัฒนาระบบชลประทานให้เชื่อมโยงแหล่งน้ำต่าง ๆ  เทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมอัจฉริยะ (Smart farm) จะถูกนำมาช่วยในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าว อ้อย โดยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจะถูกนำมาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน (Renewable energy or alternative energy) และเกิดการเติบโตด้านรายได้ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน SMEs รวมถึงเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ภาคการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative tourism) กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว และกลุ่มเกษตรเชิงสร้างสรรค์ จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ หรือ การลงทุนจากเอกชน ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนรอบพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวมีรายได้จากการค้าขายสินค้าและบริการ เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนในบริเวณพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว  เมืองที่มีการใช้เทคโนโลยีแบบอัจฉริยะ (Smart city) จะต้องผลักดันให้มีแรงงานที่มีทักษะและความสามารถที่ตลาดแรงงานต้องการ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และสถาบันอาชีวศึกษาในท้องถิ่น รวมถึงจะมีการพัฒนาหรือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ มาใช้ในการสนับสนุนภาคการเกษตร และภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากนี้จะมีการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงข่ายการคมนาคมขนส่ง โครงข่ายระบบชลประทาน โครงข่ายการสื่อสาร และ Big data อย่างมีประสิทธิภาพก่อให้เกิดระบบตลาดแบบดิจิทัล (Digital market)และเกิดศูนย์กลางกระจายสินค้าเกษตรแบบครบวงจร โดยการขับเคลื่อนจังหวัดกาฬสินธุ์สู่เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (โครงการศึกษาภาพอนาคตแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคม (Social Foresight) ของจังหวัดกาฬสินธุ์, 2564) 
         เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์กำลังพบกับความท้าทายด้วยปัจจัยที่หลากหลายและรูปแบบการเรียนรู้ของประชาชนที่เปลี่ยนไป ทักษะใหม่ สถานการณ์ของการระบาดของไวรัส Covid-19  การดำเนินงานในระยะ 3 เดือนพบว่า แม้ว่าจะมีหน่วยงานองค์กรภาครัฐ องค์กรทางการศึกษาและภาคประชาสังคมเป็นภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อน “เมืองกาฬสินธุ์แห่งการเรียนรู้” มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไว้อย่างหลากหลาย แต่ยังขาดมิติของการเชื่อมโยงชุดกิจกรรม การเรียนรู้เหล่านั้นอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง การเรียนรู้ไม่ครอบคลุมทุกช่วงวัย ขาดการบูรณาการทุกภาคส่วนรวมพลังคนในพื้นที่ในประเด็นเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัยอย่างจริงจัง การสร้างจิตสำนึก รวมถึงการสร้างความผูกพันในการรับรู้คุณค่ามรดกทางปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้แก่คนในพื้นที่ในการสร้างการเรียนรู้ ทั้งในรูปแบบหลักสูตรท้องถิ่นและชุดการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านพื้นที่การเรียนรู้ด้วยกลไกความร่วมมือระดับเมือง การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่เน้นการมีส่วนร่วมในการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาตลอดชีวิต หากเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ได้พัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างเด็ก เยาวชน คนในพื้นที่ และภาคีเครือข่าย สู่เมืองกาฬสินธุ์แห่งการเรียนรู้ พัฒนากรอบหลักสูตรท้องถิ่นสู่การเป็น “เมืองน่าศึกษา” ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของกาฬสินธุ์ และขับเคลื่อนหลักสูตรท้องถิ่นผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ทุกช่วงวัยที่มีการผสานและเชื่อมโยงพื้นที่แห่งการเรียนรู้ อาทิ หอสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์กาฬสินธุ์ จะทำให้ประชาชนเมืองกาฬสินธุ์ “อิ่มสมอง” นำไปสู่การยกระดับการศึกษาของท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนได้ การดำเนินงานในระยะแรก บริบทการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงอุดมศึกษ มีนโยบายชัดเจน คือ นโยบายพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ให้เป็นเมืองอุดมสุข ที่มีความตั้งใจจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “เมืองน่าศึกษา” และการจัดสรรงบประมาณที่คำนึงถึงการศึกษาเป็นลำดับแรก ประเด็นในการพัฒนาคือ การเรียนรู้ในระบบในสภาวะวิกฤต ความชัดเจนของหลักสูตรท้องถิ่น  ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สำหรับทุกเพศทุกวัย โรงเรียนพัฒนาความเป็นเลิศทางด้านกีฬาวอลเลย์บอล การสืบสานประเพณีบุญซำฮะ หอศิลป์กาฬสินธุ์ พื้นที่สร้างสรรค์เยาวชน การยกระดับคุณภาพศึกษาโรงเรียนเทศบาล ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา พิพิธภัณฑ์กาฬสินธุ์ศึกษา และศูนย์เรียนรู้ออนไลน์แต่ยังขาดการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ในสภาวะวิกฤต การเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ และการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก  ในส่วนการดำเนินการการอำนวยความสะดวกให้มีการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดบริการสาธารณะ ด้านสนามกีฬา ลานกีฬา และพื้นที่สร้างสรรค์ด้านสุขภาพ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกาย เต้นแอโรบิก แข่งขันกีฬา กิจกรรมดนตรี ลานลีลาศควรส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และกิจกรรมเสริมเพื่อประกอบพื้นที่สร้างสรรค์ให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น ด้านการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ทันสมัยสื่อการเรียนการสอน สื่อการสอนออนไลน์ ควรเพิ่มความต่อเนื่องของการดำเนินการ และการเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับช่วงวัยมากขึ้น ด้านการส่งเสริมคุณภาพและความเป็นเลิศในการเรียนรู้ ศูนย์การเรียนรู้ที่มุ่งเน้นคุณธรรมนำความรู้ แต่ผลลัพธ์ยังไม่ชัดเจน  และด้านการสนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเข้มแข็ง โรงเรียนผู้สูงอายุ  การส่งเสริมหลักสูตร school Based Management for Local Development (SBMLD) หากมีการประยุกต์ความโดดเด่นของวัฒนธรรมกาฬสินธุ์มาพัฒนาหลักสูตรให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
 

นโยบายการใช้ Cookie | This website uses cookies

คุณสามารถเลือกปฏิเสธการทำงานของคุ้กกี้ได้ตามความต้องการของคุณ โดยการตั้งค่าเบราว์เซอร์หรือการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของคุณ เพื่อระงับการเก็บรวมรวบข้อมูลโดยคุกกี้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากคุณตั้งค่าเบราว์เซอร์ หรือค่าความเป็นส่วนตัวของคุณ ด้วยการปฎิเสธการทำงานของคุกกี้ทั้งหมด คุณอาจไม่สามารถใช้งานฟังก์ชั่นบางอย่าง หรือทั้งหมดบนเว็บไซต์kalasinlearningcitycomได้อย่างมีประสิทธิภาพ กดปุ่ม "ยอมรับทั้งหมด" เพื่ออนุญาตให้เราสามารถนำข้อมูลการใช้งานไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ต่อไปนโยบายคุกกี้
We use cookies to personalise content and ads, to provide social media features and to analyse our traffic. We also share information about your use of our site with our social media, advertising and analytics partners who may combine it with other information that you’ve provided to them or that they’ve collected from your use of their services.
นโยบายการใช้คุกกี้ | Cookie Policy